คนพิการ...ความเคยชิน...กับคุณค่าในตัวเอง

คนพิการ...ความเคยชิน...กับคุณค่าในตัวเอง

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาช้านานโดยเฉพาะในเรื่องของคนพิการ มุมมองเกี่ยวกับคนพิการในหลายๆครั้งยังมองว่าเป็น เรื่องของความน่าสงสาร การไร้ความสามารถ ทั้งที่ในปัจจุบัน คนพิการหลายคนมีความรู้ และประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกัน หลายๆครั้งที่คนพิการ ก็ลดทอนคุณค่าของตนเองจากการตีตรา ของคนภายนอกจนกลายเป็นความสงสาร ถึงแม้ว่าสังคมไทยจะเป็นสังคมที่ดีงาม มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การช่วยเหลือคนพิการ จึ่งเป็นกลุ่มแรกๆที่ได้รับการช่วยเหลือ การช่วยเหลือยิ่งมาก มันก็จะยิ่งกลายเป็นความเคยชิน จนคนพิการอาจมองว่า เป็นสิ่งที่ฉันต้องได้รับความช่วยเหลือ เป็นหน้าที่ขององค์กรต่างๆที่เข้ามาช่วยทั้งที่ไม่ได้ร้องขอ ในการทำงานของดิฉันหลายๆครั้ง ที่ได้พบเรื่องราวเหล่านี้ เมื่อ 15 ปีก่อน กับการทำงานด้านคนพิการในแถบชายแดนภาคเหนือเป็นเวลาหลายปี ในฐานะนักกายภาพบำบัดชายแดนที่อยู่ในพื้นที่พิเศษ ที่ต้องผ่านการอนุญาตของกระทรวงกลาโหมก่อนถึงขะเข้าไปทำงานได้ 3 ปีแรกของการทำงานเป็นช่วงที่ดิฉันต้องเรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง ทั้งงานกายภาพบำบัดและผู้คน คนพิการที่ดิฉันดูแลและครอบครัว และอีกมากมาย ในช่วงนั้น เป็นช่วงของวัยรุ่นเพิ่งจบมาได้ไม่นาน ดิฉันทุ่มเต็มที่กับการจัดการ และดูแลคนพิการในความรับผิดชอบ จนบางครั้งไม่ได้สนใจเรื่องเวลา การทุ่มเทให้อย่างมากแต่ไม่เคยได้รับความไว้วางใจ และความร่วมมือจากคนพิการและครอบครัวเลยกับการรักษากับทุกเคส แต่กลับถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของดิฉันที่ต้องทำ เขาเป็นคนที่ต้องได้รับการดูแล แต่ไม่ได้มองศักยภาพของตัวเองเลย ทำให้คนพิการไม่พัฒนาเท่าที่ควร จนในที่สุดช่วงหารทำงานในช่วงหลังๆของดิฉัน จึงเปลี่ยนมาเป็นการให้ข้อมูล และทำความเข้าใจในเรื่องการฟื้นฟูรายบุคคล ก่อนการทำกายภาพบำบัด ทำให้คนพิการรู้ก่อนว่าตนเองต้องการอะไร และอยากพัฒนาตนเองไปได้แค่ไหน โดยมีการทำงานร่วมกันของคนพิการ ผู้ดูแล และทีมฟื้นฟูขององค์กร จากการประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาทำให้ฉันได้พบว่า “ความเคยชิน ไม่ทำให้คนพิการได้เห็นศักยภาพของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถพัฒนาเขาได้”

รุ่ง wafcat