จาตุรนต์ คำใหญ่ ผู้ไม่ยอมแพ้กับโชคชะตา

จาตุรนต์ คำใหญ่ ผู้ไม่ยอมแพ้กับโชคชะตา

  

นาย จาตุรนต์ คำใหญ่ หรือแซค เกิดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2546  ที่อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม แซค เป็นลูกชายคนโต และมีน้องชาย1 คน ชื่อนินจา ซึ่งมีอายุห่างจากแซคถึง9 ปี แซคตอนแรกเกิดปกติดีทุกอย่าง คลอดตอนอายุครรภ์ครบ9 เดือน เหมือนเด็กๆทั่วไป แต่มามีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงตอนอายุ1-2 ขวบ โดยแม่ของแซคคิดว่าเมีสาเหตุ2อย่าง คือผลข้างเคียงจากการรับฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลล หรือเป็นเพราะโรคทางพันธุกรรมเนื่องจากลุงของแซค และลูกพี่ลูกน้องคนนึงก็มีร่างกายที่อัมพาตพิการคล้ายกัน ในช่วงแรกๆ แม่ก็เที่ยวนั่งรถโดยสารพาแซคไปรับการกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลเมืองนครพนม เดือนละครั้ง ไปเช้ากลับเย็นเพราะไม่มีที่พัก โดยในช่วงที่แม่ตั้งครรภ์จนคลอดแซคและเที่ยวไปโงพยาบาลตอนนั้น พ่อของแซคไปทำงานเป็นลูกจ้างปลูกแอปเปิ้ลและกีวีที่ประเทศอิสราเอลเป็นเวลา2 ปีกว่าๆ

ต่อมาพอแซคอายุครบ 5 ขวบ แม่ก็นำแซคเข้าเรียนชั้นอนุบาลศูนย์เด็กเล็กของ อบต. ในชุมชนหลังจากนั้นเมื่ออายุได้ 7 ขวบ แม่ก็พาแซคเข้าเรียนชั้น ป.1 ซึ่งโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน เรียนร่วมจนจบชั้น ป.6 และย้ายมาเรียนต่อชั้น ม.1 ที่โรงเรียนสนธิราษฏร์วิทยา จนจบชั้น ม.3 เมื่อปี พ.ศ. 2560 และต้องหยุดเรียนไป 1 ปี เนื่องจากชั้น ม.4 ที่เป็นโรงเรียนเดิม ห้องเรียนส่วนมากจะอยู่ชั้นบน และเป็นระบบเดินเรียน WAFCAT จึงได้แนะนำแซคให้รู้จักสถานศึกษาที่เหมาะสำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหวในภาคอีสาน คือ วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ หนองคาย และสนับสนุนทุนค่าพาหนะเดินทางมาสมัครเรียน โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครพนมในการประสานงานนำส่งน้องแซคกับแม่ไปยังสถานศึกษาดังกล่าว พร้อมรับการทดสอบและประเมินความสามารถในการอยู่หอพักร่วมกับเพื่อนๆ จากการทดสอบและประเมินเบื้องต้น พบว่า น้องแซคสามารถช่วยเหลือตนเองได้เล็กน้อย เนื่องจากกล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรง จำเป็นต้องมีผู้ช่วยเหลือที่หอพัก และต้องการวีลแชร์ไฟฟ้า เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในการเรียนตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวัน ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของน้องแซคที่ประสงค์จะศึกษาต่อ ดังนั้น สถานศึกษาจึงให้การช่วยเหลือโดยการหาคู่ buddy อาสา เพื่อนร่วมรุ่นที่จะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน และทาง WAFCAT ได้สนับสนุนวีลแชร์ไฟฟ้าให้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนจึงส่งผลให้น้องแซคสามารถเข้าศึกษาต่อได้ตามปกติในปี พ.ศ. 2562

หลังจากเรียนผ่านไปเทอมแรก แซคไม่สบายป่วยเป็นโรคผิวหน้ง มีผดผื่นคันเนื่องจากติดเชื้อรา และแบคทีเรีย สถานศึกษาได้ส่งต่อไปรักษาที่สถานพยาบาลที่ใกล้เคียงแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น แซคจึงขอพักรักษาตัวในเทอมที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ถึงแม้อาการจะปกติดีแล้ว ก็จะต้องพักการเรียนรออีก 1 เทอม เพราะต้องรอเข้าเรียนพร้อมรุ่นน้องในเทอม 2 ของ ปวช.1 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 แต่ประสบปัญหาว่า เพื่อนที่เป็น buddy อาสา ที่คอยช่วยเหลือไม่อยู่ในสถานศึกษา เพราะจำต้องไปฝึกงานและเรียบจบไปแล้วก็มี ดังนั้น WAFCAT จึงเห็นด้วยกับการที่แม่กับแซคที่จะลองกลับไปสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับ ชั้น ม.4 ที่โรงเรียนสนธิราษฏร์วิทยา โดย WAFCAT จะเข้าไปประสานงานกับสถานศึกษาเรื่องของการจัด ปรับสิ่งอำนวยความสะดวก ห้องเรียน และอาคารสถานที่ ให้เอื้อกับการใช้วีลแชร์ในการเรียนร่วมกับนักเรียนปกติ

ดังนั้นเมื่อเดือนมีนาคม2564 เจ้าหน้าที่WAFCAT พร้อมครูการศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครพนม จึงได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านน้องแซค เพื่อประเมินความพร้อมของแซคและครอบครัวในการที่จะกลับเข้าไปยังโรงเรียนเรียนร่วมอีกครั้ง ซึ่งทั้งพ่อและแม่ของแซคก็พร้อมที่จะสนับสนุนลูกชายให้ได้เรียนต่ออีกครั้ง โดยมีนินจา น้องชาย ที่จะคอยช่วยเหลือพี่ชายอีกแรง เพราะนินจาก็กำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้เช่นกัน ในวันเดียวกันเราเลยได้เดินทางไปโรงเรียนสนธิราษฎร์วิทยา เพื่อเข้าพบผู้บริหารและคณะครูเพื่อหารือแนวทางบริหารจัดการให้แซคสามารถเรียนร่วมจนจบชั้นม.ปลาย ซึ่งผู้บริหารก็ได้อนุเคราะห์ความร่วมมือโดยการที่จะจัดชั้นเรียนของแซคให้อยู่ชั้นล่างตลอด3 ปี โดยจะทำความเข้าใจกับครูท่านอื่นๆและเพื่อนร่วมชั้นเรียนของแซค ส่วนแซคเองก็ไม่ได้ติดขัดในการที่ตนจะต้องเรียนกับรุ่นน้องที่อายุอ่อนกว่า2-3 ปี

ผ่านไปเดือนแรกของการกลับไปเรียนร่วมที่โรงเรียน เข้ากับเพื่อนๆได้ดีทุกคน ทั้งเพื่อนและครูก็คอยให้การช่วยเหลือ ทำให้เรียนอย่างมีความสุขและสนุกดีแม้ว่าจะเรียนยากมากเนื่องจากต้องเรียนสายวิทย์ที่ตนเองก็ไม่ได้ถนัดนัก แต่แซคก็พยายามอย่างเต็มที่เพราะรู้ว่านี่คือโอกาสเดียวที่ตนจะได้เรียนจนจบมีวุฒิการศึกษาในการสมัครเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นไปในอนาคต สำหรับอุปสรรคของแซคในการเรียนร่วมคือ โต้ะเรียนปกติไม่พอดีกับตัววีลแชร์ไฟฟ้าของแซค ทำให้ต้องนั่งเอี้ยวตัวในการเขียนหนังสือ ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ นอกจากนี้อาคารโรงอาหารยังไม่มีทางลาดเชื่อมสำหรับวีลแชร์ แซคจึงต้องทานอาหารในห้องเรียนแทนการไปร่วมรับประทานอาหารกับเพื่อนที่โรงอาหาร และทางขึ้นอาคารห้องคอมพิวเตอร์ที่แม้จะอยู่ชั้นล่าง แต่พื้นอาคารมีความสูงเล็กน้อยและไม่มีทางลาดสำหรับวีลแชร์ ซึ่งทั้งหมดนี้แก้ไขได้ โดยWAFCAT ได้บริจาคโต๊ะเรียนสั่งทำพิเศษโดยพี่อาสาสมัครบริษัทเด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ให้แซค และวางแผนร่วมกับโรงเรียนในการเข้าไปจัดปรับสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้มีความสะดวกสำหรับทุกคน และด้วยความเป็นห่วงที่แม่กับนินจาต้องอุ้มแซคและยกวีลแชร์ขึ้นรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างเพื่อไปกลับโรงเรียนทุกวัน ดังนั้น WAFCAT จึงได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 6,000 บาท ในการดัดแปลงพ่วงข้างมอเตอร์ไซค์ให้กว้าง และมีแผ่นเหล็กเป็นทางลาดให้เข็นวีลแชร์ขึ้นพ่วงข้างได้เลย ที่สำคัญคือเพิ่มหลังคาเพื่อกันแดดกันฝนด้วยจากนี้เราก็ได้แต่คาดหวังว่า แซคจะสามารถเรียนร่วมต่อไปได้จนจบชั้นม.6 เพื่อศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นไป ก่อนที่จะเข้าสู่ชีวิตการทำงานที่สามารถมีรายได้เลี้ยงดูตนเองตามเป้าหมายของกองทุนส่งเสริมการศึกษาแก่เด็กพิการของWAFCAT

ขอเชิญทุกท่านมาร่วมส่งกำลังใจให้แซคด้วยกัน และสักวันแซคคงจะพึ่งพาตนเองได้ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับนักเรียนทุนรุ่นน้องคนต่อๆไป